ไลฟ์สไตล์ของคุณแม่มือใหม่

ไลฟ์สไตล์ของคุณแม่มือใหม่

ไลฟ์สไตล์ของคุณแม่มือใหม่


การเป็นคุณแม่มือใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันที่มีผลต่อการทำงานที่เปลี่ยนไป เพื่อการให้นมลูก เรานำเคล็ดลับดีๆ 9 ข้อเพื่อให้คุณแม่ที่ให้นมลูกใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายดายขึ้น

1. เรียนรู้วิธีการให้นมลูก่อนลูกเกิด

ไม่มีอะไรที่ดีกว่าประสบการณ์จริง ถึงแม้เราจะเตรียมพร้อมมาอย่างไรก็ตาม แต่การอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการให้นมลูกก่อนการให้นมจริงย่อมมีส่วนช่วยได้แน่นอน การอุ้มลูกให้นมทุกท่าที่มีสอนไว้ในหนังสืออาจไม่ได้เหมาะกับคุณแม่ทุกๆคนและในทุกสถานการณ์ แต่การมีความรู้เรื่องการให้นมเก็บไว้บ้างก็สามารถช่วยให้เราปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองได้


2. เก็บน้ำนมแช่เย็นไว้

การให้นมจากเต้าเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน แต่ในบางเวลาที่ลูกหิวเราอาจมีน้ำนมไม่พอให้เขาอิ่มได้ คุณสามารถใช้อุปกรณ์ที่ช่วยเก็บน้ำนมด้วยตัวเองและแช่เย็นไว้เพื่อเก็บไว้ให้ลูกตอนที่ไม่สะดวกให้นมได้
มีหลายปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ตลอด 24 ชั่วโมง บางกรณี คุณอาจต้องออกจากบ้าน ให้คนที่บ้านดูแลหรือให้พี่เลี้ยงเด็กช่วยดูแลลูกน้อยของคุณ การไม่ได้ให้นมอาจทำให้เกิดอาการคัดเต้านมได้จึงต้องมีการเก็บน้ำนมออกบ้างเพื่อให้ลูกได้กินภายหลังด้วยขวดนม การเก็บน้ำนมไว้ช่วยได้อย่างดีในกรณีฉุกเฉินและช่วยให้คุณแม่ประหยัดเวลาตอนที่ไม่ว่างได้อย่างมาก
การเก็บน้ำนมสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่การบีบมือ, การใช้ปั้มนมมือถือ และการใช้ปั๊มนมไฟฟ้า แม้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็นิยมใช้เครื่องปั๊มมือถือหรือเครื่องปั๊มไฟฟ้ามากกว่าเพราะสะดวกและง่าย


3. พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณรู้ดีว่าการเลี้ยงลูกต้องเหนื่อยยาก คุณต้องพร้อมเสมอเมื่อลูกน้อยกำลังหิว เราขอแนะนำวิธีการประหยัดพลังงานดังนี้
-           นั่งพักให้บ่อยเท่าที่ทำได้ ใช้เวลางีบหลับในตอนที่ลูกหลับไปด้วยกัน
-           พยายามให้บ้านไม่รกรุงรัง เพื่อจะได้ประหยัดเวลาการทำความสะอาดเช็ดถู
-           พยายามผ่อนคลาย ด้วยการใช้เทคนิคการผ่อนคลายร่างกายเหมือนตอนที่ท้อง
-           ทำอาหารง่ายๆ แต่บำรุงสุขภาพ จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาก
-           หาพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยดูแลคุณจะได้หยุดพักบ้าง เช่นสามี ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่ยินดีช่วยดูแลเจ้าตัวน้อย


4. เอาชนะความซึมเศร้าหลังคลอดให้ได้

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและการนอนหลับได้น้อยลงทำให้คุณเกิดความรู้สึกซึมเศร้า  หงุดหงิด ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด ที่เรียกว่าอาการ Baby blues เพื่อช่วยปรับระดับอารมณ์ของคุณให้เป็นปกติขึ้น ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับคนที่ไว้ใจได้วันละ 3-4 ชั่วโมง เพื่อคุณจะได้ใช้เวลาในการปรับอารมณ์และใช้เวลาพักผ่อน เพื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างรวดเร็วนี้ไปได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหลังคลอด 1-2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล หรือเพื่อนที่เคยคลอดลูกมาก่อนบ้าง


5. ออกกำลังกายบ้างนิดๆ หน่อยๆ

การออกกำลังกายเล็กๆน้อยๆ ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ช่วยเพิ่มพลังให้กับร่างกาย และทำให้รูปร่างกลับสู่ปกติได้เร็วขึ้น มีข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติจากองค์กรของออสเตรเลียว่าให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีในระดับปานกลาง เช่นการเดิน หรือการว่ายน้ำ จะดีมากถ้าคุณมีเวลาทำได้ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายปรับสู่ภาวะปกติแข็งแรงได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน
การออกกำลังกายเน้นส่วนหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานหลังตั้งครรภ์จะช่วยให้ร่างกายกลับเป็นปกติได้เร็วขึ้น


6. ออกจากบ้าน

พยายามใช้เวลาเดินเล่นกับทารกให้ลูกนอนรถเข็นหรือเปลเด็กทารกบ้างเพื่อให้คุณได้รู้สึกดีขึ้น และยังดีต่อพัฒนาการของลูกด้วย และก็เป็นการดีหากคุณได้พบเจอเพื่อนๆ ละแวกบ้านที่เป็นคุณแม่เหมือนกันจะได้ปรึกษาและช่วยเหลือกันได้


7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คำแนะนำที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับร่างกายของคุณและทารก คือการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดหากคุณกำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ว่าปริมาณน้อยเท่าไหร่ก็สามารถส่งผ่านน้ำนมไปสู่ลูกน้อย ส่งผลกับพัฒนาการด้านร่างกายและสมองได้


8. ตรวจสอบยาทุกอย่างที่ใช้

หากคุณมีโรคประจำตัวแต่ต้องทานยาเป็นประจำควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลคุณทราบ และแจ้งเภสัชกรทุกครั้งก่อนการใช้ยาใดๆ เภสัชกรและแพทย์จะแนะนำตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมได้


9. ทำรายการ To do list ไว้

สำหรับการเลี้ยงลูกในเดือนแรก คุณแม่อาจจะไม่มั่นใจ และวุ่นจนหลงลืมไปบ้าง ว่าวันๆ หนึ่งจะต้องทำอะไรบ้าง การหลงลืมไม่ใช่เรื่องแปลกแต่คุณไม่อาจหลงลืมเรื่องที่ลูกต้องการได้ อ่านคำแนะนำ Check list ของเราในบทความถัดไปเพื่อให้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ง่ายขึ้น